
งานวิจัยจากอ็อกซ์ฟอร์ดชี้ปลาทองมีความทรงจำดี รู้ตำแหน่งของสภาพแวดล้อมรอบตัว
งานวิจัยล่าสุดของทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในอังกฤษ พบหลักฐานบ่งชี้ว่า ปลาทองมีความทรงจำที่ดี และรู้ตำแหน่งและทิศทางของสภาพแวดล้อมรอบตัว
ทีมนักวิทยาศาสตร์ศึกษาเรื่องนี้โดยฝึกฝนปลาทอง 9 ตัวให้ว่ายน้ำระยะทาง 70 ซม. แล้วว่ายกลับ โดยจะได้รับอาหารเป็นรางวัลในตอนท้าย และพบว่า ปลาเหล่านี้สามารถคาดคะเนระยะทางได้อย่างแม่นยำ
ผลการศึกษาที่ได้นับเป็นการหักล้างความเชื่อที่มีมายาวนานว่า ปลาทองเป็นสัตว์ที่มีความจำสั้นหรือแทบไม่มีความทรงจำเลย
เทียบสัตว์บก
ทีมนักวิจัยจากคณะชีววิทยามหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดต้องการค้นหาว่าปลามีวิธีการระบุตำแหน่งและการนำทางแบบเดียวสัตว์บกหรือไม่
พวกเขาจึงทดลองเรื่องนี้โดยปล่อยปลาเข้าตู้ที่มีการตีเส้นลายขวางระยะห่างกัน 2 ซม.
จากนั้นเมื่อปลาทองว่ายไปถึงระยะทางที่กำหนดไว้ นักวิจัยก็จะส่งสัญญาณ เช่น การโบกมือ เพื่อให้ปลาว่ายกลับไปยังจุดเริ่มต้น
จากนั้น นักวิจัยได้ทดสอบว่าปลาจะสามารถว่ายน้ำในระยะห่างเท่าเดิมได้หรือไม่ หากจุดเริ่มต้นเปลี่ยนไป และไม่มีการส่งสัญญาณให้ว่ายกลับ
นอกจากนี้ พวกเขายังทดสอบว่าปลาทองจะว่ายในระยะทางเท่าเดิมหรือไม่เมื่อภาพพื้นหลังเปลี่ยนแปลงไป
ผลปรากฏว่า ปลาทอง 8 ใน 9 ตัวสามารถจดจำได้อย่างแม่นยำว่าจะต้องว่ายกลับเมื่อใด เพื่อที่จะได้รับอาหารเป็นรางวัลตอบแทน โดยที่ไม่ต้องมีการส่งสัญญาณจากนักวิจัย
นอกจากนี้ ปลาทองยังสามารถว่ายน้ำในระยะทางที่ถูกต้อง แม้จุดเริ่มออกว่ายจะถูกขยับออกไปด้านหน้าก็ตาม
นักวิจัยระบุว่า ผลการทดลองที่ได้บ่งชี้ว่า ปลาทองสามารถคาดคะเนระยะทางจากการดูรูปแบบการเคลื่อนที่ปรากฏ (apparent motion) ของสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เรียกว่า “ออปติก โฟล” (optic flow)
พวกเขาระบุว่า สัตว์บกหลายชนิดก็ใช้การมองลักษณะนี้เพื่อคาดคะเนระยะทาง แต่ดูเหมือนว่าปลาทองจะประมวลข้อมูลแตกต่างออกไป
สัตว์บก เช่น มนุษย์ และผึ้ง จะคาดคะเนระยะทางด้วยการวัดว่ามุมระหว่างตาของตนกับวัตถุรอบข้างนั้นเปลี่ยนแปลงไปเท่าใดในขณะที่ตนเคลื่อนที่ นักวิจัยระบุว่า ดูเหมือนปลาทองจะสังเกตการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เห็นในระหว่างการว่ายน้ำไปข้างหน้า